ข้าวสารหลวง ๑

Chionanthus mala-elengi (Dennst.) P. S. Green subsp. terniflorus (Wall. ex G.Don) P. S. Green

ชื่ออื่น ๆ
ดีควาย (เชียงใหม่)
ไม้ต้น ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือง่ามใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่ มีเมล็ดเดียว

ข้าวสารหลวงชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๗-๑๒ ม. แตกกิ่งก้านเล็กน้อย มีขนยาว มีช่องอากาศตามลำต้น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอก กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๙-๑๒ ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือสอบ มีเส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๑ เส้น ขึ้นเป็นสันทางผิวใบด้านล่าง และมักเป็นร่องทางด้านบน เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๕-๗ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง รูปพีระมิด กว้างประมาณ ๖ ซม. ยาวประมาณ ๑๐ ซม. มีขนสั้นที่ก้านช่อดอก กลุ่มดอกย่อยออกเป็นกระจุกละ ๓ ดอกเป็นส่วนมาก ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอกสีขาว ยาวทั้งสิ้น ๗-๘ มม. โคนกลีบติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๔ แฉก เกสรเพศผู้ ๒ อัน ยาวประมาณ ๑.๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กมาก ปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีเมล็ดเดียว

 ข้าวสารหลวงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นบนไหล่เขา บริเวณที่ชื้น และริมลำธาร ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ตอนเหนือของพม่า ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวสารหลวง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Chionanthus mala-elengi (Dennst.) P. S. Green subsp. terniflorus (Wall. ex G.Don) P. S. Green
ชื่อสกุล
Chionanthus
คำระบุชนิด
mala-elengi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dennstedt, August Wilhelm
- Green, Peter Shaw
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. terniflorus
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Wall. ex G.Don) P. S. Green
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Dennstedt, August Wilhelm (1776-1826)
- Green, Peter Shaw (1920-2009)
ชื่ออื่น ๆ
ดีควาย (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางทิพย์พรรณ สดากร